Fake News คืออะไร??

Fake News คืออะไร??

Fake News ลวงให้เชื่อ หลอกให้แชร์

เมื่อมีอินเทอร์เน็ต ทุกคนเป็นได้ทั้งผู้รับและผู้ผลิตข่าวสารข้อมูล เขียนแล้วโพสต์ รับมาแล้วแชร์ต่อไป นอกจากจะมีข่าวสารข้อมูลที่เป็นความจริงเป็นประโยชน์เแล้ว ยังมีเนื้อหาที่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว โน้มน้าวชักจูง โฆษณาชวนเชื่อ เนื้อหามุ่งโจมตีฝ่ายตรงข้าม สร้างความแตกแยกชิงชัง ความเข้าใจผิดต่างๆ ข้อมูลทั้งจริงและไม่จริง ยากจะตรวจสอบหรือค้นหาต้นตอ อาจมีคนตั้งใจทำเนื้อหาข้อมูลเท็จขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจง บางคนรับมาแล้วแชร์เนื้อหาผิด ๆ นั้นออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ (Misinformation) หลายคนคงเคยมีประสบการณ์หรือได้รับผลกระทบจากข่าวลวง ข้อมูลไม่จริง ที่เรียกว่า Fake News มาบ้างแล้ว


คำว่า Fake News อาจจะดูแคบเกินไป เพราะอันที่จริงแล้ว Fake News ไม่ได้หมายถึงข่าวที่ไม่จริงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่ไม่เป็นความจริงด้วย “Claire Wardle” จาก First Draft 1 ซึ่งเป็นองค์กรทำงานต่อต้านข่าวลวงและข้อมูลเท็จเพื่อสร้างความไว้วางใจและความจริงในยุคดิจิทัล ทำงานร่วมกับหน่วยงานหลายแห่งทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนา ในระดับสากล รวมถึง Facebook ด้วย บอกว่า การที่จะเข้าใจระบบนิเวศของการส่งต่อหรือแชร์สารสนเทศผิดๆ ออกไปนั้น ควรจะต้องทำความเข้าใจกับประเภทของข่าวสารข้อมูลเท็จ แรงจูงใจของคนทำ และเนื้อหาเหล่านั้นแพร่กระจายไปได้อย่างไร

Claire ตั้งข้อสังเกตถึงประเภทของข้อมูลสารสนเทศที่เป็นปัญหาที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ และพยายามแบ่งประเภทของ Fake News ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องไม่จริงที่ทำขึ้นมาให้ตลก เสียดสี เพื่อความสนุกสนาน ซึ่งผู้รับก็ทราบดีว่าเป็นเรื่องไม่จริงแต่ก็อยากจะอ่านและแชร์กันขำๆ ซึ่งหากคนหรือกลุ่มคนที่โดนล้อหรือเสียดสีนั้นไม่ขำด้วย รู้สึกอาย ถูกดูหมิ่น ถูกประจาน ถูกเกลียดชัง ก็จะกลายเป็น Cyberbullying หรือ Hate Speech ได้


อีกประเภทหนึ่งได้แก่เนื้อหาที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด ซึ่งอาจทำโดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ บางครั้งมีการแอบอ้างเอาบุคคลมีชื่อเสียงหรือน่าเชื่อถือว่าเป็นคนพูดหรือรับรองสิ่งนั้นสิ่งนี้ ยังมีการนำข้อมูลหลากหลายมาเชื่อมโยงกันทั้งที่ในความเป็นจริงอาจจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย เช่น นำงานวิจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกันไปเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าบางอย่างเพื่อมุ่งหวังประโยชน์ในการขายสินค้าได้มากขึ้น การนำภาพเก่าหรือภาพของเหตุการณ์อื่นมาใส่ในเหตุการณ์เดียวกัน ทำให้ผู้รับเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือเหตุการณ์เดียวกัน ที่แย่ที่สุดคือเนื้อหาที่ตั้งใจตัดต่อ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ คลิปเสียง คลิปวีดีโอ ไม่ว่าจะทำเพื่อความสนุกสนาน สร้างความเชื่อ หรือเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ถือเป็นข้อมูลเท็จที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคล กลุ่มบุคคล หรือสังคมโดยรวม ทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย

ผลกระทบของ Fake News


– ผู้รับได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด อาจส่งผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น แชร์ข้อมูลว่าดื่มน้ำมะนาวช่วยรักษาโรคมะเร็งได้ ผู้ป่วยอาจเลิกไปรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดกับหมอ ทำให้มะเร็งลุกลามถึงขั้นเสียชีวิต

– ผู้รับเกิดความตระหนกตกใจ เช่น ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับภัยพิบัติ หรือโรคระบาดต่าง ๆ อาจทำให้ผู้คนแตกตื่น แห่กักตุนของกินของใช้ หรือไปเข้าคิวฉีดวัคซีนป้องกันโรคซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง ข่าวการเมืองหรือนโยบายของรัฐที่อาจทำให้หุ้นขึ้นหรือลง นักลงทุนเทขายหุ้นหรือซื้อเพื่อเก็งกำไร

– ผู้ถูกแอบอ้างได้รับความเสียหาย เช่น ถูกล้อเลียน ดูหมิ่น กลั่นแกล้งรังแก (bully) เพราะข้อมูลเท็จที่เกิดจากการตัดต่อให้ดูตลกขบขัน ถูกเกลียดชังจากข้อมูลเท็จเชิงใส่ร้ายป้ายสี หรือตัวอย่างข่าวดาราดังป่วยหนักใกล้เสียชีวิต ทำให้ประชาชนสงสาร มิจฉาชีพฉกฉวยโอกาสเรี่ยไรเงินช่วยเหลือครอบครัวดาราดัง

– ข้อมูลที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เช่น ข้อมูลเท็จทางด้านการเมือง ข่าวสถานการณ์ระหว่างประเทศ อาจนำไปสู่ความไม่สงบสุขในสังคม สร้างปัญหาระหว่างประเทศได้

การตรวจสอบเบื้องต้น


– ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวสารข้อมูล เช่น สำนักข่าว หน่วยงาน หรือชื่อผู้ให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ หลายๆ แหล่งก็ยิ่งดี

– ตรวจสอบแหล่งข้อมูลอื่นๆ ประกอบ เช่น หน่วยราชการหรือหน่วยงานที่น่าจะเกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูลนั้นๆ เพื่อยืนยันว่ามีเรื่องหรือเหตุการณ์ดังกล่าวจริง เช่น ถ้าเป็นเรื่องโรคระบาด ก็ควรตรวจสอบไปที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลต่างๆ ว่ามีข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างหรือไม่

– ตรวจสอบหาต้นตอของข่าว บางครั้งข่าวเท็จอาจเป็นข่าวเก่าที่เคยเกิดขึ้นแล้ว หรือใช้ข้อมูลจากข่าวเก่ามาเล่าใหม่เพื่อให้เกิดความแตกตื่นหรือเพื่อประโยชน์แอบแฝง จึงควรสืบค้นภาพเก่าหรือข่าวเก่ามาเปรียบเทียบกันก่อนที่จะเชื่อและแชร์

– อาจสอบถามผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ โดยตรง หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น รายการชัวร์ก่อนแชร์ โดย สำนักข่าวไทย อสมท. เป็นสื่อกลางนำเรื่องที่แชร์กันมากบนสื่อโซเชียลไปถามผู้รู้มาตอบให้ในรายการและเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก SureAndShare


ผู้ที่ผลิตข่าวเท็จ บิดเบือน และนำเผยแพร่บนโซเชียลยังเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 คือนำข้อความเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ อันก่อให้เกิดความเสียหาย สร้างความตื่นตระหนก กระทบต่อสังคม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ส่งต่อข้อมูลเท็จนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ ก็ถือว่ามีความผิดเท่ากับผู้กระทำผิดข้างต้นและมีอัตราโทษเช่นเดียวกัน ทั้งนี้หากข้อมูลนั้นทำให้บุคคล องค์กร หน่วยงาน เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็ยังอาจจะได้รับโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกด้วย

ข้อมูลในโลกออนไลน์มีมาก เคลื่อนไหวเร็ว โดยผู้ใช้ทุกคนที่สามารถผลิตใหม่และผลิตซ้ำ ทั้งเรื่องจริงและเรื่องเท็จ ยากแก่การตรวจสอบอย่างเท่าทันสถานการณ์ ผู้ใช้สื่อทุกคนจึงควรมีภูมิคุ้มกันตนเองในการรับข่าวสารข้อมูล ตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกใช้ เลือกแชร์ พัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง ข้อมูลเท็จ หรือผู้อยู่เบื้องหลังที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากความตื่นรับข้อมูลข่าวสารของเราเอง

#ส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ#InternetforBetterLife หรือ #IFBL #ETDATHAILAND #fakenews
https://ifbl.etda.or.th/

This Post Has 119 Comments

Comments are closed.